6 ขั้นตอน เปิดบริษัทรับเหมาก่อสร้าง [อัปเดตปี 2567]
ช่วงนี้หลายคนคงคิดที่จะอยาก เปิดบริษัทรับเหมาก่อสร้าง เป็นของตัวเอง แต่ไม่รู้ว่าจะต้องเริ่มยังไงกันใช่ไหมครับ ? เพราะจากการเติบโตและก้าวหน้าของอุตสาหกรรมก่อสร้างในประเทศไทย ที่มีทั้งโอกาสกับความท้าทายมากมาย หากมีความสามารถมากพอ ก็สามารถกอบโกยเม็ดเงินจากอุตสาหกรรมนี้ได้อย่างมหาศาล
อีกทั้งเป็นหน้าที่ของผู้รับเหมาก่อสร้าง ที่มีรายรับเป็นปกติธุระเกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี ที่จะต้องยื่นคำขอจดทะเบียนบริษัท ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่มีรายรับเกิน รวมถึงผู้ประกอบการกิจการขายสินค้าหรือให้บริการ ซึ่งมีเหตุให้ต้องซื้อสินค้า หรือรับบริการที่บังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มอีกด้วย
ในบทความนี้ พวกเรา บริษัทรับเหมาก่อสร้าง S.J.Building ที่มีประสบการณ์การเปิดบริษัทรับเหมาก่อสร้างมาก่อน จะขอมาแชร์แต่ละขั้นตอนตั้งแต่เริ่มเปิดธุรกิจก่อสร้างกันครับ หวังว่าจะเกิดประโยชน์กับผู้ที่สนใจ ไม่มากก็น้อย
เลือกอ่านตามหัวข้อ
- 1. เตรียมความพร้อม ก่อนเริ่มเปิดบริษัทรับเหมาก่อสร้าง
- 2. จดทะเบียนบริษัท
- 3. จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
- 4. สมัครสมาชิกและได้รับหนังสือรับรอง จากสภาสถาปนิก (ACT)
- 5. ลงทะเบียน e-GP กับภาครัฐ
- 6. เริ่มดำเนินธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง
- คำถามที่พบบ่อย การเปิดบริษัทรับเหมาก่อสร้าง
- สรุป
1. เตรียมความพร้อม ก่อนเริ่มเปิดบริษัทรับเหมาก่อสร้าง
สิ่งแรกที่ต้องทำก่อนเริ่มเปิดบริษัทรับเหมาก่อสร้าง คือความพร้อมของตัวเองกับทีมงาน ทั้งในเรื่องทักษะความรู้ แผนธุรกิจ และเงินทุน ที่ควรเตรียมให้พร้อมต่อไปนี้
- ศึกษาข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ผู้ประกอบการที่อยากเปิดบริษัทรับเหมาก่อสร้าง ควรต้องมีความรู้เรื่องกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับงานก่อสร้างทั้งหมด อย่างเช่น พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2558 และกฎกระทรวงควบคุมอาคารฉบับที่ 67 (พ.ศ.2563) รวมถึงกฎหมายอื่น ๆ ที่ข้องเกี่ยวกันด้วย - "ไซต์งานก่อสร้าง" กฎระเบียบที่ควรรู้ เพื่อความปลอดภัย
- วางแผนธุรกิจ เพื่อกำหนดเป้าหมายกับแนวทางดำเนินธุรกิจรับเหมาก่อสร้างในระยะยาว ครอบคลุมถึงงานด้านการเงิน การตลาด และด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล
- ตรียมเงินทุนให้พร้อม นอกจากทุนสำหรับจดทะเบียนบริษัท เงินทุนในที่นี้รวมถึงส่วนของเงินลงทุนซื้อวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้าง เงินทุนหมุนเวียน และเงินสำรองฉุกเฉินสำหรับใช้ดำเนินธุรกิจด้วย
- ความพร้อมด้านบุคลากร และเครื่องมืออุปกรณ์งานก่อสร้าง หมายถึงการมีบุคลากรที่มีทักษะความสามารถ และเครื่องมืออุปกรณ์อยู่ในสภาพพร้อมใช้ อย่างเพียงพอเหมาะสมกับประเภทและขนาดของงานก่อสร้างนั้น ๆ
2. จดทะเบียนบริษัท
ต่อมาคือการจดทะเบียนบริษัท หรือการนำกิจการรับเหมาก่อสร้างไปจดทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ (DBD) เพื่อให้กิจการมีสถานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย
ประเภทของนิติบุคคล ที่กิจการรับเหมาก่อสร้างจดทะเบียนได้
- ห้างหุ้นส่วนจำกัด (หจก.) ประกอบด้วยผู้ก่อการตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป หุ้นส่วนทุกคนต้องร่วมรับผิดในหนี้สินของ หจก. อย่างไม่มีจำกัด แบ่งได้เป็นสองประเภทคือ หุ้นส่วนทั่วไป ที่ต้องร่วมรับผิดชอบหนี้สินอย่างไม่มีจำกัด กับหุ้นส่วนจำกัดความรับผิดชอบ ที่จะรับผิดชอบหนี้สินไม่เกินจำนวนเงินตามที่ได้ลงทุนไว้เท่านั้น
- บริษัทจำกัด (บจก.) ประกอบด้วยผู้ก่อการตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป ผู้ถือหุ้นทุกคนต้องรับผิดชอบในหนี้สินของบริษัทไม่เกินจำนวนเงินที่ตนได้ลงทุนไว้ การบริหารงานของ บจก. จะกระทำโดยคณะกรรมการบริษัท ที่ได้รับการแต่งตั้งมาจากการประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้น
ทำไมควรจดทะเบียน เปิดบริษัทรับเหมาก่อสร้าง
- เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้จ้าง เพราะเมื่อผู้จ้างทราบว่า บริษัทรับเหมาก่อสร้างแห่งนี้ได้ผ่านการจดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย ย่อมทำให้เกิดความไว้วางใจที่จะใช้บริการ
- เพื่อประโยชน์ในการติดต่อกับหน่วยงานราชการ เพราะไม่ใช่ว่าจะก่อสร้างได้ตามอำเภอใจ เงินมางานเดินแค่นั้นจบ แต่จะต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบข้อมูลของบริษัทก่อสร้างจากหน่วยงานราชการต่าง ๆ ก่อนที่จะดำเนินการขออนุญาต หรือดำเนินการใด ๆ ที่เกี่ยวข้อง
- เพื่อประโยชน์ในการประกอบธุรกิจ เพราะการเปิดบริษัทรับเหมาก่อสร้างทำให้ผู้ประกอบการสามารถประกอบธุรกิจได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งช่วยให้ได้รับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ อย่างเช่น สิทธิในการออกแบบใบกำกับภาษี หรือสิทธิกู้ยืมเงินจากสถาบันทางการเงิน
ขั้นตอนจดทะเบียน เปิดบริษัทรับเหมาก่อสร้าง
- ตรวจสอบชื่อบริษัทที่ต้องการจดทะเบียน ว่ามีอยู่แล้วหรือไหม ได้ที่เว็บไซต์ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า - https://datawarehouse.dbd.go.th/index
- ยื่นคำขอจดทะเบียนบริษัท พร้อมเอกสารประกอบ ที่สำนักงานพัฒนาธุรกิจการค้า หรือสาขาของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ในจังหวัดที่ตั้งบริษัท
- รอรับหนังสือรับรองการจดทะเบียนบริษัท ใช้เวลาประมาณ 3-5 วันทำการ
- ยื่นคำขอจดทะเบียน เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร ที่สำนักงานสรรพากรในเขตที่ตั้งบริษัท
- รอรับเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร ใช้เวลาประมาณ 1-2 วันทำการ
3. จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เป็นภาษีที่เกิดจากการเพิ่มมูลค่าของสินค้าหรือบริการ ที่ผู้ประกอบการเสียให้แก่รัฐ ในอัตราปัจจุบันคือ 7% ของมูลค่าสินค้าหรือบริการ
ผู้ประกอบการจะต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับหนังสือรับรองการจดทะเบียนบริษัท ด้วยการยื่นคำขอได้ที่กรมสรรพากร
ขั้นตอนจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
- กรอกแบบฟอร์ม คำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.01) และยื่นให้กับสำนักงานสรรพากรในพื้นที่ที่ประกอบกิจการ หรือยื่นออนไลน์ที่เว็บไซต์ - https://vsreg.rd.go.th/jsp/FVATDetail.jsp
- เตรียมสำเนาหนังสือรับรองการจดทะเบียนบริษัท และสำเนาเอกสารอื่นที่เกี่ยวข้องประกอบการยื่นแบบฟอร์ม
- รอรับใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.20) ซึ่งจะแสดงหมายเลขประจำตัวผู้เสียภาษี และถูกจัดส่งไปยังที่อยู่ตามที่ลงทะเบียนไว้
- แสดงหนังสือรับรองการจดทะเบียน ที่สถานที่ประกอบกิจการของคุณ และใช้หมายเลขประจำตัวในการออกใบกำกับภาษี และยื่นแบบฟอร์มภาษี
4. สมัครสมาชิกและได้รับหนังสือรับรอง จากสภาสถาปนิก (ACT)
สภาสถาปนิก หรือ Architect Council of Thailand (ACT) คือองค์กรควบคุมวิชาชีพสถาปัตยกรรมของประเทศไทย ที่ก่อตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติสถาปนิก พ.ศ.2543 มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลและควบคุมการประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมภายในประเทศ
หากเปิดบริษัทรับเหมาก่อสร้างในประเทศไทย ก็ควรต้องสมัครสมาชิกและได้รับหนังสือรับรองจากสภาสถาปนิก (ACT) เนื่องเพราะกฎหมายควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 39 ทวิ กำหนดให้อาคารบางประเภทต้องจัดทำแบบแปลน และขออนุญาตก่อสร้างจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น - งานก่อสร้าง ทุกประเภทมีอะไรบ้าง [มือใหม่ควรอ่าน]
การมีหนังสือรับรองจากสภาสถาปนิก (ACT) คือการยืนยันอย่างนึง ว่าเราเปิดบริษัทรับเหมาก่อสร้างที่มีศักยภาพในการก่อสร้างอาคารได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย และผ่านมาตรฐานความปลอดภัยกับสิ่งแวดล้อม
ขั้นตอนขอหนังสือรับรอง จากสภาสถาปนิก
- ผู้ที่ได้รับใบอนุญาตฯ ยื่นคำขอ แบบ สภส. 15 พร้อมกับเอกสารหลักฐาน ส่งที่สภาสถาปนิก
- เจ้าหน้าที่จะตรวจสอบเอกสารกับหลักฐาน พร้อมออกใบรับเรื่องให้ กรณีเอกสารกับหลักฐานไม่สมบูรณ์ เจ้าหน้าที่จะไม่ออกใบรับเรื่อง และคืนเอกสารทั้งหมดให้ผู้ยื่น
- ชำระค่าธรรมเนียม และรับใบเสร็จ
- เจ้าหน้าที่ยืนยันข้อมูลผู้ยื่นคำขอ เมื่อถูกต้องครบถ้วน จึงดำเนินจัดทำหนังสือรับรอง
- หลังจัดทำหนังสือรับรอง หัวหน้าฝ่ายจะตรวจความถูกต้องอีกครั้ง และเสนอไปยังสำนักงานฯ เพื่อให้ผู้มีอำนาจลงนาม (เลขาธิการสภาสถาปนิก)
- เจ้าหน้าที่แจ้งผลผู้ยื่นขอหนังสือรับรอง และจัดส่งตามที่อยู่ที่ได้รับแจ้งไว้ (ไม่เกิน 15 วัน)
5. ลงทะเบียน e-GP กับภาครัฐ
e-GP หรือ Electronic Government Procurement คือระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วยอิเล็กทรอนิกส์ จัดทำขึ้นโดยสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ DGA มีเป้าหมายเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับหน่วยงานรัฐและเอกชน เพิ่มความโปร่งใส และลดปัญหาการทุจริตคอรัปชั่น
เหตุผลที่หากเปิดบริษัทรับเหมาก่อสร้าง และควรต้องลงทะเบียน e-GP
- มีโอกาสได้รับงานก่อสร้างภาครัฐมากขึ้น เนื่องเพราะปัจจุบัน (พ.ศ.2567) เกือบทุกหน่วยงานภาครัฐเลือกใช้ระบบ e-GP ในการจัดซื้อจัดจ้างงานก่อสร้างกันหมด
- เพิ่มความน่าเชื่อถือและไว้วางใจ เพราะระบบ e-GP มีการเปิดเผยข้อมูลผู้ค้าอย่างครบถ้วน ช่วยให้หน่วยงานภาครัฐหรือประชาชนสามารถตรวจสอบความโปร่งใสได้
- อำนวยความสะดวกในการเข้าร่วมการประมูล รวมถึงช่วยลดขั้นตอน และค่าใช้จ่ายในการเข้าร่วมงานประมูลได้มาก ทั้งการประมูลแบบปิด (e-Auction) หรือการประมูลแบบเปิด (e-Bidding) เพียงลงทะเบียนกับยื่นเอกสารประกอบผ่านระบบ e-GP
ขั้นตอนลงทะเบียน e-GP หลังเปิดบริษัทรับเหมาก่อสร้าง
- ลงทะเบียน e-GP ผ่านเว็บไซต์ Thai Government Procurement และเลือก ลงทะเบียนผู้ค้ากับภาครัฐ - https://process3.gprocurement.go.th/EGPWeb/jsp/control.egp
- กรอกข้อมูลที่จำเป็นในแบบฟอร์มลงทะเบียน พร้อมอัปโหลดเอกสารประกอบ
- พิมพ์แบบการลงทะเบียน และให้กรรมการผู้มีอำนาจนิติบุคคลเซ็นต์กับลงลายมือชื่อ พร้อมทั้งแนบเอกสารสำคัญของบริษัทตามไป
- ส่งเอกสารให้กับหน่วยงานภาครัฐที่ต้องการจัดซื้อจัดจ้าง หรือส่งทางไปรษณีย์ จากนั้นรอผลอนุมัติทาง E-mail
6. เริ่มดำเนินธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง
หลังจากที่ดำเนินครบทุกขั้นตอน การเปิดบริษัทรับเหมาก่อสร้าง คุณก็สามารถเริ่มดำเนินธุรกิจก่อสร้างได้อย่างถูกกฎหมาย ด้วยความรู้กับทักษะด้านงานก่อสร้าง การบริหารจัดการ และการประเมินราคาก่อสร้าง รวมถึงการหางานกับการจัดการเงินทุน เพื่อสร้างผลกำไรให้กับบริษัท แล้วนำไปสู่การแข่งขันกับบริษัทรับเหมาก่อสร้างคู่แข่งได้อย่างทัดเทียม
คำถามที่พบบ่อย การเปิดบริษัทรับเหมาก่อสร้าง
- อยากเปิดบริษัทรับเหมาก่อสร้าง ต้นทุนเท่าไหร่ ?
ตอบ ถ้าอยากเปิดบริษัทรับเหมาก่อสร้าง ก็ต้องมีเงินทุนพอสมควรครับ แบ่งเป็น 2 ส่วนหลัก ๆ เลยคือ เงินทุนจดทะเบียน (บจก. ขั้นต่ำ 1 ล้านบาท , หจก. ขั้นต่ำ 2 หมื่นบาท) กับ เงินทุนหมุนเวียน ที่ไม่ควรมีน้อยกว่า 30% ของมูลค่าโครงการ
เงินทุนหมุนเวียน นี้สำคัญมากเลยนะ เพราะงานก่อสร้างเป็นงานที่มีมูลค่าสูง บางครั้งผู้รับเหมาก็จำเป็นต้องวางมัดจำให้กับเจ้าของงานก่อน หรืออาจต้องซื้อวัสดุก่อสร้างล่วงหน้า - 10 ข้อที่คนทำ ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ควรทราบ
- กิจการรับเหมาก่อสร้าง ควรเปิดแบบ หจก. หรือ บจก.
ตอบ จริง ๆ แล้ว อยากเปิดแบบไหนก็ได้นะ ขึ้นอยู่กับความสะดวกและความพร้อมของแต่ละคนเลย แต่ถ้าให้เลือกระหว่าง หจก. กับ บจก. ผมคิดว่า บริษัทจำกัด (บจก.) ดีกว่าครับ
เพราะธุรกิจก่อสร้างนั้นมีความเสี่ยงสูง ทั้งแก่ภายในและแก่บุคคลภายนอกเลยครับ ถ้าเกิดความเสียหายร้ายแรงขึ้นมา หจก. หุ้นส่วนเกือบทั้งหมดจะต้องรับผิดชอบร่วมกัน แต่ถ้าเป็น บจก. ทางหุ้นส่วนจะร่วมรับผิดชอบเพียงไม่เกินจำนวนเงินที่ตนได้ลงทุนเพียงเท่านั้น
- ใช้บ้านเป็นที่อยู่เปิดบริษัทรับเหมาก่อสร้างได้ไหม ?
ตอบ ได้ครับ แต่ต้องดูปัจจัยหลาย ๆ อย่างประกอบด้วย อย่างเรื่องขนาดของบ้าน ทำเลที่ตั้ง และสภาพของบ้าน
นอกจากนี้ การใช้บ้านเป็นที่อยู่เปิดบริษัทรับเหมาก่อสร้าง อาจทำให้ต้องเสียภาษีมากขึ้น เพราะว่าบ้านเป็นที่อยู่อาศัย จึงต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินในอัตราที่สูงกว่าการใช้อาคารสำนักงานเปิดบริษัทรับเหมาก่อสร้าง
สรุป
หากต้องการ เปิดบริษัทรับเหมาก่อสร้าง คุณอาจเริ่มจากการเตรียมความพร้อม ไม่ว่าจะเรื่องข้อกฎหมาย การวางแผนธุรกิจ และความพร้อมด้านบุคลากรกับอุปกรณ์งานก่อสร้าง รวมถึงเงินทุนที่ต้องเตรียมให้พร้อม ทั้งส่วนเงินทุนจดทะเบียน และเงินทุนหมุนเวียนสำหรับใช้ดำเนินธุรกิจ
เมื่อเตรียมความพร้อมแล้ว ก็จะไปสู่ขั้นตอนการจดทะเบียนบริษัท และการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเพื่อรับหนังสือรับรองต่อไป
สำหรับผู้รับเหมารุ่นใหม่ที่สนใจเปิดบริษัทรับเหมาก่อสร้างของตนเอง พวกเรา S.J.Building แนะนำให้ศึกษาความรู้ และหาประสบการณ์จากผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จมาก่อน ไม่ควรรีบรับงานก่อสร้างขนาดใหญ่ที่เกินศักยภาพจะรับไหว แต่ให้เริ่มจากงานขนาดเล็กเพื่อเก็บผลงานกับประสบการณ์ แล้วค่อย ๆ เติบโตรับงานที่ใหญ่ขึ้นตามลำดับ