แชร์

10 ข้อที่คนทำ “ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง” ควรทราบ

อัพเดทล่าสุด: 20 ธ.ค. 2023
5294 ผู้เข้าชม
ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง

ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง เป็นธุรกิจที่มีโอกาสเติบโตและสร้างกำไรได้มาก แต่กลับมีความท้าทายกับความเสี่ยงที่ต้องรับมือไม่น้อย คนที่ต้องการทำธุรกิจนี้จึงต้องมีประสบการณ์ มีความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับธุรกิจรับเหมาก่อสร้างเป็นอย่างดี

พวกเรา บริษัทรับเหมาก่อสร้าง S.J.Building มีประสบการณ์ในสายงานนี้มากว่า 10 ปี เลยอยากขอแบ่งปันหลักคิดที่ได้รับระหว่างการทำงาน ให้กับคนที่สนใจอยากทำธุรกิจนี้ครับ

เลือกอ่านตามหัวข้อ

ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง คืออะไร

ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง (Construction Business)

ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง หรือ Construction Business คือธุรกิจที่ดำเนินกิจการรับเหมาก่อสร้างอาคาร ถนน เขื่อน สะพาน หรืองานก่อสร้างประเภทอื่น ๆ โดยเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดหาวัสดุอุปกรณ์ แรงงาน และเครื่องจักรที่จำเป็นในการก่อสร้าง รวมถึงดูแลควบคุมการก่อสร้างให้เป็นไปตามแผน และงบประมาณที่กำหนด

10 ข้อที่คนทำ ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ควรทราบ

1. เลือกผู้ว่าจ้างที่เชื่อถือได้ จ่ายเงินตรงเวลา

ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างมีการลงทุนที่สูง ไม่ว่าจะเป็นเงินทุนหมุนเวียน ค่าวัสดุก่อสร้าง ค่าแรงคนงาน หรือค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ควรต้องระวังกับผู้ว่าจ้างที่ไม่ดี อาจลองหาที่มาที่ไปของลูกค้าและดูประวัติความน่าเชื่อถือ ว่าเคยเบี้ยวเงินผู้รับเหมาเหมือนเรามั้ย อย่ารับงานจากคนที่จะทำให้เราต้องเสียเวลาไปเรียกเก็บเงิน หรือต้องให้หมุนเงินจนเดือดร้อน

" เราเป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง ไม่ใช่ นายหน้าหาเงิน " โฟกัสที่งานก่อสร้างเป็นหลักครับ

ยิ่งถ้าเจอผู้ว่าจ้างดึงงวดสุดท้าย งานก็จะไม่สมบูรณ์ ไม่เหลือกำไร หรืออาจโชคร้ายต้องเจ๊งกันไป เพราะความเสี่ยงจากเจ้าของงาน ถือเป็นเรื่องสำคัญหากคิดจะทำธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง และไม่ว่าลูกค้าจะเป็นใคร ขอให้ทำสัญญาก่อสร้างอย่างรัดกุมที่สุด ไม่เสี่ยงรับงานซี้ซั้วครับ

2. เสนอราคาให้ได้กำไรที่เหมาะสม

การเสนอราคาให้กับผู้ว่าจ้าง คือการต่อรองที่มีผลต่อกำไรของธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง เราควรทำงานที่ได้ กำไรสุทธิหลังหักค่าใช้จ่ายทั้งหมด ต้องไม่ต่ำกว่า 10% (ขึ้นอยู่กับลักษณะงาน) อย่ารับงานที่ได้กำไรน้อยเกินไป หรือเสียเปรียบในการต่อรองกับลูกค้า จนทำให้ธุรกิจไม่เติบโต และเสียเวลาไปโดยไม่คุ้มค่า

เมื่อเสนอราคาให้กับผู้ว่าจ้าง ก็ต้องคำนวณ BOQ ให้ถูกต้องตรงไปตรงมา ผู้ว่าจ้างส่วนมากอาจไม่เข้าใจโครงสร้างต้นทุนกับความเสี่ยงมากมายที่เราต้องแบกรับ เชื่อว่าผู้รับเหมามีกำไรมาก หัวหมอชอบซ่อนอะไรไว้ แต่เรารู้กันดีครับ ว่าราคาที่เสนอไปคือการป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นวัสดุเสียหาย ค่าแรงโอที ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าน้ำมัน ฯลฯ

ลองอธิบายให้เจ้าของงานเข้าใจ ชี้แจงให้เห็นภาพ ว่าควรจะเลือกเราเพราะมีความพร้อม ทำงานคุณภาพดี และจบตรงเวลา ไม่ใช่เพราะราคาถูกที่สุดแต่ไปเสี่ยงกับปัญหาในภายหลัง

3. ประชุมช่วง Pre-Construction

Pre-Construction ช่วงเตรียมการก่อนเริ่มงานก่อสร้าง จำเป็นต้องประชุมร่วมกับผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ตั้งแต่ผู้จัดการโครงการ สถาปนิก วิศวกรสนาม โฟร์แมน ฝ่ายประมาณราคา ฝ่ายจัดซื้อ รวมถึงฝ่ายบัญชี เพื่อให้เห็นแนวทางเดียวกัน การวางแผนไม่ใช่หน้าที่ของ PM เพียงคนเดียว ข้อมูลจากทุกฝ่ายจะช่วยให้การวางแผนเกิดประสิทธิภาพสูงสุด พยายามคุยกันอย่างเปิดเผย เข้าใจกันอย่างลึกซึ้ง งานจะจบได้ด้วยดี

4. ตั้งงบประมาณ ติดตาม และควบคุมต้นทุน

การวางแผนงบประมาณและจัดการต้นทุนสำหรับโครงการก่อสร้าง สามารถช่วยให้ผู้รับเหมาประหยัดเวลา ลดความเสี่ยงและเพิ่มกำไรได้ แต่หลายคนมักไม่สนใจทำ เพราะหน้างานมีเรื่องวุ่นวายจนไม่มีเวลาเก็บข้อมูลต้นทุนที่จ่ายออกไปแล้ว

ต้นทุนค่าใช้จ่ายในงานก่อสร้างมักไหลออกได้หลายทาง ทั้งการซื้อวัสดุ การจ่ายค่าแรง การจ้างผู้รับเหมาช่วง การใช้เงินสดย่อย ฯลฯ หากไม่มีการควบคุม ต้นทุนก็จะหลุดออกนอกเป้าหมายได้ง่าย ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างควรมีระบบเอกสารกับวิธีการที่ชัดเจน สำหรับรวบรวมต้นทุนและค่าใช้จ่ายทั้งหมดให้ครบถ้วน

5. มีเงินทุนหมุนเวียน อย่างน้อย 30%

ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างควรมีเงินทุนหมุนเวียน ไม่น้อยกว่า 30% ของมูลค่าโครงการก่อสร้างที่ได้รับ เพื่อให้ดำเนินต่อไปได้โดยไม่ต้องพึ่งพาเงิน Advance หรือเงินงวดจากผู้ว่าจ้าง เนื่องเพราะเงินส่วนนี้อาจติดปัญหาในการเบิกหรือจ่าย ทำให้งานล่าช้า ต้นทุนเพิ่มขึ้นสวนทางกับกำไรที่ลดลง

การมีเงินทุนหมุนเวียนเพียงพอ จะช่วยให้ผู้รับเหมาทำงานได้ตามแผน และมีประโยชน์อีกอย่างคือ สามารถซื้อวัสดุก่อสร้างเป็นเงินสดเพื่อรับส่วนลดเงินสดจากผู้ขาย (Cash Discount) 1.5-3% หรือคิดเป็นกำไรที่เพิ่มขึ้น 1-2% เลยทีเดียว

เงินทุนหมุนเวียน ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างมีความมั่นคง หากเงินทุนหมุนเวียนไม่ดีก็ทำงานได้ลำบาก หรือถ้าต้นทุนแพงแต่กำไรน้อยก็ไม่มีทางเติบโต กลับไปข้อที่ 1. ถ้าเลือกผู้ว่าจ้างดี จ่ายเงินตรงเวลา ก็จะหมดปัญหาเรื่องการหมุนเงิน แล้วเข้าสู่โหมดการสร้างกำไรได้ครับ

6. มีความสัมพันธ์ที่ดีกับซัพพลายเออร์

ซัพพลายเออร์ เป็นหุ้นส่วนสำคัญที่ช่วยสนับสนุนธุรกิจรับเหมาก่อสร้างให้เติบโตขึ้นได้ เราสามารถประหยัดต้นทุนได้ด้วยความช่วยเหลือจากซัพพลายเออร์ ที่เชี่ยวชาญการหาวัสดุที่เหมาะสม เพราะวัสดุแต่ละอย่างก็มีเทคนิคการซื้อแตกต่างกันไป

เมื่อพบกับซัพพลายเออร์ที่ดี สามารถให้คำปรึกษาและจัดส่งวัสดุให้ได้ตรงตามเวลา ไม่ทำให้งานขัดข้อง ก็ควรรักษาความสัมพันธ์ที่ดีเอาไว้ ให้เกรียติ ไม่เอาเปรียบและ (พยายาม) จ่ายเงินให้ตรงเวลา หากทำงานร่วมกันอย่างเข้าขา ทางซัพพลายเออร์ก็อยากจะช่วยเราในฐานะลูกค้าที่ดี มีส่วนลด หรือต่อรองราคาได้ง่าย

7. ดูแลคนงาน และผู้รับเหมาช่วง

แรงงานเป็นเรื่องที่ทำให้ปวดหัวไม่น้อย คนทำธุรกิจรับเหมาก่อสร้างไม่ควรละเลยเรื่องพื้นฐานอย่าง การจ่ายเงินตรงเวลา และความเป็นอยู่ที่เหมาะสม ถ้าพวกเค้าได้กินอิ่มนอนอุ่น ก็จะอยากทำงานกับเราต่อไปเรื่อย ๆ เองครับ นึกไว้เสมอ " ไม่มีพวกเขาก็ไม่มีเรา " อย่าลืมว่าประเทศไทยกำลังเข้าสู่ยุคขาดแคลนแรงงานที่ลดลงเป็นเท่าตัวในทุกปีด้วยนะครับ

การเสียแรงงานฝีมือดีไปทำงานกับที่อื่น ก็เป็นปัญหานึง ที่เพราะเขาอาจไม่ได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสม ไม่มีโอกาสให้เค้าเติบโตในอาชีพ หรือบางคนก็อยากเป็นเจ้าของธุรกิจรับเหมาด้วยตัวเอง ผู้รับเหมาควรใส่ใจให้ดี

8. ลงทุนกับสินทรัพย์

หมายถึงสินทรัพย์ที่เราซื้อมาเพื่อใช้ประโยชน์ในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นเครื่องมือ เครื่องจักร ที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง แคมป์คนงาน หรืออะไรก็ตามที่ ลงทุนซื้อ แล้วได้ประโยชน์มากกว่า การเช่า หรือ ไม่มีใช้

การมีเครื่องมือเป็นของตัวเอง จะสามารถช่วยให้ทำงานได้เร็ว เพราะพร้อมให้หยิบจับมาใช้ได้ตลอด พองานไวทุนก็ลดลง หรืออาจทำให้คุณภาพงานสูงขึ้น พร้อมที่จะแข่งขันกับผู้รับเหมารายอื่น แต่อย่าลืมนึกถึงค่าใช้จ่ายที่ตามมาด้วยนะครับ เช่น ค่าซ่อมบำรุง ค่าเสื่อมราคา หรือความเสี่ยงจากการสูญหาย ลองคำนวณดูว่า ซื้อหรือเช่า แบบไหนจะคุ้มกว่า

9. คุมเวลางานให้ได้ตามแผน

ผู้ว่าจ้างมักจะชอบงานก่อสร้างที่มีคุณภาพและเสร็จทันตามกำหนด หรือเร็วกว่าแผนได้ก็ยิ่งดี พองานเสร็จตามแผนเราก็สามารถโยกคนงาน และเครื่องจักรไปทำไซต์งานอื่นต่อได้

การวางแผนงานก่อสร้างต้องเริ่มตั้งแต่ช่วง Pre-Construction และต้องติดตามการทำงานอย่างใกล้ชิด โดยที่วิศวกรหน้างานต้องไปส่องดูรายละเอียด และตรวจคุณภาพงานให้จบได้ในครั้งเดียวแบบที่ไม่ต้องเก็บงานย้อนหลังจะดีที่สุด

10. บริการผู้ว่าจ้างให้ตลอดรอดฝั่ง

ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างที่ประสบความสำเร็จ ต้องสามารถบริการลูกค้าได้อย่างมืออาชีพตลอดระยะเวลาก่อสร้าง ด้วยการสื่อสารอย่างเปิดเผย ปฏิบัติตามสัญญา และส่งมอบงานได้ทันตามกำหนด เพื่อสร้างความไว้วางใจระหว่างกัน เท่านี้ก็มีโอกาสที่จะได้งานต่อเนื่อง หรือได้รับงานจากการแนะนำของลูกค้าเดิมอีกด้วย

สรุป

สรุปแล้ว ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง (Construction Business) นั้นคือธุรกิจที่ดำเนินกิจการรับเหมาก่อสร้าง ด้วยการรับผิดชอบหน้าที่จัดหาวัสดุอุปกรณ์ แรงงาน และเครื่องจักรที่จำเป็นต่อการก่อสร้าง เพื่อให้การก่อสร้างเป็นไปตามแผนกับงบประมาณที่กำหนด

บทความที่เกี่ยวข้อง
ผู้รับเหมา คือใคร
การเลือก ผู้รับเหมา แบบรายย่อยหรือนิติบุคคล ในโครงการก่อสร้าง ควรต้องเข้าใจหลักคิดการคัดกรองผู้รับเหมาที่ดี เพื่อให้งานก่อสร้างประสบความสำเร็จ
18 มิ.ย. 2024
เครื่องมือช่างก่อสร้าง
คู่มือเลือกซื้อและดูแลรักษา เครื่องมือช่างก่อสร้าง ครอบคลุมทั้งเครื่องมือก่อสร้างพื้นฐานและเฉพาะทาง พร้อมบอกแหล่งจำหน่ายอุปกรณ์ช่างก่อสร้าง
23 พ.ค. 2024
อุปกรณ์ก่อสร้าง
คู่มือมือใหม่ อุปกรณ์ก่อสร้าง กับทุกสิ่งที่ควรรู้ ตั้งแต่ประเภท รายชื่อ พร้อมเคล็ดลับการเลือกซื้ออุปกรณ์วัสดุก่อสร้าง
23 พ.ค. 2024
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy