ตอม่อ คืออะไร ? ส่วนประกอบฐานรากที่เจ้าของบ้านควรรู้
S.J.Building สรุปให้
-
ตอม่อ คือเสาขนาดสั้นสูงประมาณ 50-100 ซม. อยู่ระหว่างฐานรากกับคานพื้นชั้นล่าง
-
ส่วนใหญ่จะจมอยู่ใต้ดิน โดยมีส่วนที่โผล่จากดินประมาณ 20 ซม.
-
ทำหน้าที่รองรับน้ำหนักและถ่ายเทน้ำหนักจากโครงสร้างด้านบนลงสู่ฐานรากกับเสาเข็ม
-
ต่อม่อเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างบ้านที่มีผลต่อความแข็งแรงของโครงสร้าง
-
มีหลายรูปแบบ เช่น ตอม่อคอนกรีตสำเร็จรูป ตอม่อที่หล่อในที่ ขึ้นอยู่กับลักษณะงาน
ตอม่อ คือโครงสร้างหลักในส่วนฐานราก มีผลต่อความแข็งแรงของโครงสร้างบ้านกับอาคาร บทความนี้ S.J.Building เราจะอธิบายรายละเอียดทั้งหมด ตั้งแต่รูปลักษณ์ หน้าที่ ความเชื่อมโยงกับโครงสร้างอื่น ๆ และขั้นตอนการติดตั้ง เพื่อให้เจ้าของบ้านเข้าใจความจำเป็นของส่วนประกอบนี้ค่ะ
เลือกอ่านตามหัวข้อ
- S.J.Building สรุปให้
- ตอม่อ คืออะไร ? ลักษณะทางกายภาพและตำแหน่งในโครงสร้าง
- ความสัมพันธ์ระหว่าง ตอม่อ เสาเข็ม และฐานราก
- ส่วนประกอบหลักและการออกแบบ เสาตอม่อ
- ขั้นตอนการติดตั้ง ตอม่อ สำหรับยึดเสาเหล็ก
ตอม่อ คืออะไร ? ลักษณะทางกายภาพและตำแหน่งในโครงสร้าง
ตอม่อ คือเสาสั้นที่ทำจากคอนกรีตเสริมเหล็ก มีความสูงประมาณ 50-100 เซนติเมตร ส่วนใหญ่จะถูกฝังอยู่ใต้ดินและมีแค่ส่วนน้อยที่โผล่พ้นระดับพื้นดินขึ้นมา สร้างขึ้นเพื่อเชื่อมต่อฐานรากเข้ากับคานพื้นชั้นล่าง พร้อมถ่ายเทน้ำหนักทั้งหมดของอาคารลงสู่ฐานรากเพื่อความมั่นคงของตัวบ้านค่ะ
ตำแหน่งของตอม่อจะวางอยู่บนฐานราก ปกติจะอยู่กึ่งกลาง แต่สำหรับการก่อสร้างชิดแนวเขตที่ดิน วิศวกรจะออกแบบให้วางอยู่ริมฐานราก เพื่อป้องกันโครงสร้างล้ำเข้าไปในที่ดินข้างเคียง การวางตำแหน่งลักษณะนี้เรียกว่า "ฐานรากตีนเป็ด" หรือ "ฐานรากชิดเขต"
ความแตกต่างระหว่าง ตอม่อกับเสาอาคารทั่วไป
ลักษณะ | ตอม่อ | เสาอาคารทั่วไป |
---|---|---|
ตำแหน่ง | อยู่ใต้ดิน (ระหว่างฐานรากกับคานพื้นชั้นล่าง) | อยู่เหนือระดับพื้นดิน |
ความสูง | สั้น (50-100 ซม.) |
สูงตามความสูงของชั้นอาคาร (มากกว่า 2.5 เมตร) |
การมองเห็น | มองไม่เห็นเมื่อการก่อสร้างเสร็จ | เป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างที่มองเห็นได้ |
หน้าที่หลัก | ถ่ายเทน้ำหนักจากโครงสร้างสู่ฐานรากและเสาเข็ม | รับน้ำหนักจากคาน พื้น และหลังคา แล้วถ่ายสู่ตอม่อ |
การออกแบบ | เพื่อรับแรงอัดในแนวดิ่ง | เพื่อรับทั้งแรงอัดและแรงดัดจากแรงลม |
หน้าที่ของ ตอม่อ ในโครงสร้างอาคาร
ตอม่อ ทำหน้าที่รองรับสิ่งก่อสร้าง รองรับน้ำหนักในทางแนวดิ่งเหมือนเสา ต่างกันที่ตำแหน่งที่ตั้ง รวมถึงทำหน้าที่ถ่ายเทน้ำหนักจากด้านบน ลงสู่ฐานรากและเสาเข็มที่ฝังไว้ในดิน หน้าที่หลักมีดังนี้
-
รับแรงอัดในแนวดิ่ง ทำหน้าที่รับแรงอัดรวมถึงการถ่ายเทน้ำหนักจากสิ่งก่อสร้างในแนวดิ่งลงสู่พื้นดิน
-
เชื่อมต่อโครงสร้าง ทำหน้าที่เชื่อมต่อระหว่างฐานรากกับโครงสร้างส่วนบน
-
เพิ่มความแข็งแรง เสาตอม่อเป็นเสาสั้น ๆ ที่มีความจำเป็นต่องานโครงสร้างทุกรูปแบบ ปกติจะจมอยู่ใต้ดิน เพราะใช้เป็นรากฐานที่ป้องกันอาคารเอียง หรือเกิดการเลื่อนของดินจากแผ่นดินไหว
-
ป้องกันการทรุดตัว ช่วยกระจายน้ำหนักจากโครงสร้างสู่ฐานรากให้สม่ำเสมอ ลดโอกาสการทรุดตัวที่ไม่เท่ากัน
เสาตอม่อทำหน้าที่สร้างความมั่นคงให้แก่อาคารในระยะยาว การไม่มีโครงสร้างส่วนนี้จะเพิ่มความเสี่ยงให้บ้านเสียหายได้ โดยเฉพาะเมื่อตั้งอยู่บนพื้นที่ดินอ่อน
ความสัมพันธ์ระหว่าง ตอม่อ เสาเข็ม และฐานราก
ตอม่อ เสาเข็ม และฐานราก มีความเชื่อมโยงกันในระบบโครงสร้างฐานราก โดยทำงานร่วมกันเพื่อรับและถ่ายเทน้ำหนักของอาคาร
-
เสาเข็ม ทำหน้าที่รับน้ำหนักจากอาคารและถ่ายเทลงสู่ชั้นดินที่แข็งแรงในระดับลึก
-
ฐานราก เป็นโครงสร้างส่วนที่อยู่ใต้ผิวดินทำหน้าที่รับน้ำหนักจากโครงสร้างทั้งหมด แล้วถ่ายน้ำหนักลงสู่เสาเข็มหรือดินโดยตรง
-
ตอม่อ ทำหน้าที่รับน้ำหนักบ้านต่อจากคานคอดินแล้วถ่ายน้ำหนักลงสู่ฐานรากต่อไป
ลำดับการถ่ายเทน้ำหนักในโครงสร้างอาคาร
- โครงสร้างส่วนบน (เสา คาน พื้น หลังคา)
- เสาอาคาร
- คานคอดิน
- ตอม่อ
- ฐานราก
-
เสาเข็ม (ถ้ามี) หรือดินโดยตรง
สำหรับโครงสร้างใต้ดิน ตอม่อคือเสาสั้นที่ตั้งอยู่บนฐานรากเพื่อรับน้ำหนักจากคานคอดิน แม้จะอยู่ใกล้กันแต่ก็มีหน้าที่ต่างกัน การออกแบบและก่อสร้างทุกส่วนประกอบของระบบโครงสร้างนี้ให้ถูกต้องตามหลักวิศวกรรม จะทำให้อาคารมีความแข็งแรงพร้อมความปลอดภัยในการใช้งาน
ส่วนประกอบหลักและการออกแบบ เสาตอม่อ
เสาตอม่อ คือโครงสร้างที่มีความซับซ้อนมากกว่าที่หลายคนคิด เรามาดูรายละเอียดของส่วนประกอบและการออกแบบที่สำคัญ ได้แก่
1. ส่วนประกอบหลักของตอม่อ
โครงสร้างตอม่อประกอบขึ้นจากคอนกรีตกับเหล็กเสริมที่ทำงานร่วมกัน ตัวคอนกรีตต้องมีกำลังอัดไม่ต่ำกว่า 240 ksc เพื่อทำหน้าที่รับแรงและถ่ายเทน้ำหนักลงสู่ฐานราก ในส่วนของเหล็กเสริมที่จัดวางตามการออกแบบของวิศวกร จะมีองค์ประกอบ 2 อย่างคือ
- เหล็กแกนหลัก เป็นเหล็กเส้นแนวตั้งขนาด 12-16 มิลลิเมตร ทำหน้าที่รับน้ำหนักโดยตรงจากโครงสร้างด้านบน
- เหล็กปลอก เป็นเหล็กเส้นแนวนอนขนาด 6-9 มิลลิเมตร พันรอบเหล็กแกน เพื่อยึดโครงสร้างเหล็กเข้าไว้ด้วยกันและช่วยป้องกันการปริแตกของคอนกรีต
2. ปัจจัยในการออกแบบตอม่อ
การออกแบบตอม่อจะพิจารณาจากปัจจัยต่าง ๆ ดังนี้
- ต้องคำนวณน้ำหนักที่ตอม่อต้องรับ เพื่อออกแบบโครงสร้างให้แข็งแรงเพียงพอ
- กำหนดตามน้ำหนักบรรทุกและความสูง โดยทั่วไปมีขนาด 15x15 ซม. 20x20 ซม. หรือ 25x25 ซม.
- กำหนดจำนวนและขนาดของเหล็กเสริมตามการคำนวณทางวิศวกรรม
-
กำหนดระยะหุ้มเหล็ก เพื่อป้องกันการเกิดสนิมในเหล็กเสริม ไม่น้อยกว่า 5 ซม. เพราะตอม่ออยู่ใต้ดินที่มีความชื้น
3. ประเภทของตอม่อตามการใช้งาน
ตอม่อมีหลากหลายรูปแบบ ควรเลือกให้เหมาะกับการใช้งาน เช่น
ประเภทตอม่อ | ตอม่อคอนกรีตสำเร็จรูป | ตอม่อหล่อในที่ | ตอม่อปูน |
---|---|---|---|
ลักษณะเฉพาะ |
|
|
|
ข้อดี |
|
|
|
การนำไปใช้ |
|
|
|
การเลือกใช้ตอม่อที่เหมาะกับโครงการก่อสร้าง ส่งผลตรงต่อความแข็งแรงกับอายุใช้งานของอาคาร เจ้าของบ้านต้องปรึกษาวิศวกร เพื่อออกแบบต่อม่อให้สอดคล้องกับลักษณะดินและน้ำหนักที่อาคารต้องรับค่ะ
ข้อควรระวังการควบคุมคุณภาพตลอดขั้นตอนการผลิตกับการติดตั้งต้องทำอย่างเข้มงวด เพราะโครงสร้างส่วนนี้อยู่ใต้ดิน การแก้ไขภายหลังจะทำได้ลำบากและมีค่าใช้จ่ายสูง
ขั้นตอนการติดตั้ง ตอม่อ สำหรับยึดเสาเหล็ก
- ขุดหลุมฐานรากตามขนาดที่กำหนดในแบบ ปกติจะมีขนาดใหญ่กว่าฐานรากประมาณ 25 ซม.
- ถ้ามีน้ำและดินเลนบริเวณรอบก้นหลุมต้องเอาออก แล้วทำความสะอาดหลุมให้แห้งก่อนการเททรายกับคอนกรีต
- เทคอนกรีตหยาบ (Lean) บนพื้นดินที่ปรับระดับแล้ว เพื่อเป็นแบบหล่อท้องคอนกรีตฐานราก ช่วยป้องกันไม่ให้ดินปนเปื้อนในคอนกรีตโครงสร้าง
- ติดตั้งเหล็กเสริมฐานรากตามแบบที่กำหนด
- เตรียมเหล็กยึดเสา (Anchor Bolt) แล้วติดตั้งในตำแหน่งที่จะวางเสาเหล็ก และต้องวัดระยะให้ถูกต้องตามแบบ
- ติดตั้งไม้แบบสำหรับฐานรากและตอม่อ
- ผูกเหล็กตอม่อให้ต่อเนื่องกับเหล็กฐานราก และเหล็กต้องยาวพอที่จะยึดกับเสาเหล็ก
- เทคอนกรีตลงไปรอให้แห้งประมาณ 2 วันถึงจะถอดไม้แบบออก แล้วบ่มคอนกรีต ต่อไปจนครบ 28 วัน
- ติดตั้งแผ่นเหล็กฐาน (Base Plate) บนตอม่อ โดยยึดกับเหล็ก Anchor Bolt ที่ฝังไว้
-
เชื่อมหรือยึดเสาเหล็กกับแผ่นเหล็กฐาน
เมื่อติดตั้งตอม่อเรียบร้อยแล้ว จะสามารถดำเนินการก่อสร้างโครงสร้างส่วนบนต่อได้ โดยเริ่มจากการติดตั้งเสา คาน และพื้น ตามลำดับค่ะ
อ่านเพิ่มเติม: เสาเหล็ก เสาปูน และเสาคอนกรีตเสริมเหล็ก เลือกแบบไหนดีให้เข้ากับบ้าน
สรุป
ตอม่อ ทำหน้าที่รับและถ่ายเทน้ำหนักจากโครงสร้างส่วนบนลงสู่ฐานรากที่อยู่ใต้ดิน ถึงจะมองไม่เห็นหลังจากการก่อสร้างเสร็จ แต่กลับมีความจำเป็นต่อความแข็งแรงของอาคาร การออกแบบและก่อสร้างที่ไม่ได้มาตรฐานอาจนำไปสู่การทรุดตัว การเอียง หรือการเกิดรอยร้าวของอาคารได้
การตรวจเช็คคุณภาพการก่อสร้างตอม่อทุกขึ้นตอน ตั้งแต่การเลือกวัสดุจนถึงการควบคุมงานโดยผู้ควบคุมงานก่อสร้างให้ได้มาตรฐานตามหลักวิศวกรรม จะช่วยป้องกันความเสียหายระยะยาว เพราะการแก้ไขปัญหาโครงสร้างใต้ดินภายหลังนั้นทำได้ยากและมีค่าใช้จ่ายสูงค่ะ