10 ข้อรีโนเวทบ้าน ที่มือใหม่ควรรู้ !!
แต่ … สำหรับมือใหม่ ที่อยากจะเริ่มรีโนเวทบ้าน เรามีข้อแนะนำ 10 จุดสำหรับการรีโนเวทบ้านเก่าที่พบบ่อย เพื่อให้คุณมองเห็นปัญหาและวางแผนรับมือได้อย่างถูกต้องกันครับ
เลือกอ่านตามหัวข้อ
- รีโนเวทบ้าน การยกพื้นภายใน
- เปลี่ยนวัสดุปูพื้น
- เพิ่มพื้นโครงเหล็ก
- การย้ายบันได
- เจาะผนังเป็นช่องเปิด
- เพิ่มผนังใหม่
- ย้ายตำแหน่งปลั๊กและสวิตซ์ไฟ
- เปลี่ยน-รื้อประตู หน้าต่าง
- การปรับปรุงห้องน้ำ
- การปรับปรุงหลังคา
- สรุป
1. รีโนเวทบ้าน “การยกพื้นภายใน”
การยกพื้นภายใน เป็นการรีโนเวทบ้านเพื่อปรับปรุงพื้นที่ใช้สอย เพื่อการแบ่งสัดส่วนพื้นที่ หรือการแก้ใขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับระบบท่อ แต่การยกพื้นบ้านเก่าจะต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อโครงสร้างบ้าน และความสวยงามของบ้าน ดังนี้
- รีโนเวทด้วยการยกพื้นบ้านเก่าจะทำให้พื้นสูงขึ้นจากระดับเดิม คุณควรนึกถึงความสูงของฝ้าเพดานว่าจะไม่เตี้ยเกินไป
- การปรับระดับของประตู หน้าต่าง บันได ปลั๊กไฟ และเฟอร์นิเจอร์บิ้วอิน คุณอาจต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าพื้นที่สูงขึ้น จะส่งผลต่อความสะดวกในการใช้งานสิ่งเหล่านี้หรือไม่
รีโนเวทบ้าน วิธีการยกพื้น
- การเทคอนกรีต เป็นวิธีที่ง่ายและถูกที่สุด แต่ … มีข้อเสียคือจะเพิ่มน้ำหนักให้กับโครงสร้างเดิมเป็นอย่างมาก หากต้องยกพื้นเป็นบริเวณกว้าง คุณไม่ควรเทคอนกรีตให้สูงขึ้นเกิน 10-15 เซนติเมตร เพราะคอนกรีต 1 ลูกบาศก์จะหนักประมาณ 2,400 กิโลกรัม อาจทำให้โครงสร้างเดิมรับน้ำหนักไม่ไหวและถล่มลงมา
- การทำพื้นโครงสร้างเหล็ก เป็นวิธีที่ลดภาระให้กับโครงสร้างเดิมได้ โดยการยึดโครงสร้างเหล็กกับเสาและคานของบ้าน แล้วปูทับด้วยแผ่นไฟเบอร์ซีเมนต์
2. รีโนเวทบ้าน “การเปลี่ยนวัสดุปูพื้น”
การเปลี่ยนวัสดุปูพื้น เป็นการรีโนเวทบ้านเก่าเพื่อปรับปรุงสไตล์กับความสวยงาม ให้บ้านมีเอกลักษณ์และทันสมัยมากขึ้น โดยปัจจุบันวัสดุปูพื้นมีหลายชนิด ที่สามารถใช้ปูทับพื้นเดิมได้โดยไม่ต้องรื้อ เช่น พื้นไม้ลามิเนต กระเบื้องยาง หรือกาวซีเมนต์ที่ใช้ปูกระเบื้องใหม่ทับกระเบื้องเดิมได้เลย
อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนวัสดุปูพื้นที่มีผลต่อระดับพื้น จะต้องคำนึงถึงความปลอดภัยและความเข้ากันได้กับพื้นที่ เพราะหากต้องการให้พื้นมีระดับเท่าเดิม ก็จะต้องรื้อวัสดุปูพื้นเดิมออกก่อน และไม่ควรใช้วัสดุปูพื้นใหม่ที่หนากว่าเดิมมากเกินไป
ข้อควรระวัง “การเปลี่ยนวัสดุปูพื้น”
เช่นเดียวกับการยกพื้นบ้าน หากรีโนเวทบ้านด้วยการเปลี่ยนวัสดุปูพื้น ควรจะคำนึงถึงบริเวณหน้าประตูกับหน้าบันได เพราะเมื่อระดับพื้นเปลี่ยนไปอาจทำให้เดินสะดุดหกล้มได้ สามารถแก้ใขได้ด้วยการ เว้นพื้นที่หน้าประตูกับหน้าบันไดให้มีระดับเท่าเดิม หรือตัดความยาวประตูให้สอดคล้องกับระดับพื้นใหม่
3. รีโนเวทบ้าน “การเพิ่มพื้นโครงเหล็ก”
การเพิ่มพื้นโครงสร้างเหล็ก เป็นการต่อเติมปรับปรุงบ้านเก่า เพื่อเพิ่มพื้นที่ใช้สอยให้กับโครงสร้างอาคารที่มีอยู่แล้วโดยไม่ต้องก่อสร้างโครงสร้างใหม่ เช่น โถงโล่งของตึกแถว หรือพื้นที่ใต้หลังคา สามารถทำได้โดยติดตั้งโครงเหล็กเสริมบนโครงสร้างอาคาร ซึ่งมีวิธีการดังนี้
- วางตงเหล็ก 2x4 นิ้ว ห่างกันประมาณ 30-40 เซนติเมตร และยึดให้แน่นกับโครงสร้างอาคารเดิม
- ปูแผ่นไฟเบอร์ซีเมนต์ ความหนา 16-18 มิลลิเมตร ให้เป็นฐานพื้นหลัก เพื่อเพิ่มความแข็งแรงและพร้อมรับน้ำหนัก
- เลือกใช้วัสดุปูพื้นระบบแห้ง เช่น พื้นไม้ลามิเนต หรือกระเบื้องยาง สำหรับตกแต่งเพื่อความสวยงาม
4. รีโนเวทบ้าน “การย้ายบันได”
การย้ายบันได เป็นการรีโนเวทบ้านที่ต้องการปรับให้เหมาะสมกับการใช้งานเดินขึ้น-ลง ตามความต้องการของผู้อยู่อาศัย โดยจะต้องคำนึงถึงโครงสร้างรับน้ำหนักของบันได มีวิธีที่สามารถทำได้ ดังนี้
- ใช้คานพื้นชั้นบนกับชั้นล่างเป็นแม่บันได และติดตั้งขั้นบันไดตามที่ต้องการ
- ทำแม่บันไดเดี่ยวฝังในผนัง และยื่นขั้นบันไดออกมา
ในกรณี ที่ต้องทุบพื้นเพื่อเจาะช่องบันได คุณควรพิจารณาว่าพื้นเดิมมีสภาพเป็นอย่างไร และจะต้องใช้วิธีการใดสำหรับเสริมคานให้แข็งแรง เพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้งานอีกด้วย
5. รีโนเวทบ้าน “การเจาะผนังเป็นช่องเปิด”
- ก่อนเจาะผนัง จะต้องตรวจสอบว่าเป็นผนังรับน้ำหนักหรือไม่ ? เพราะถ้าเป็นผนังรับน้ำหนัก เช่น ผนังคอนกรีตเสริมเหล็กหล่อ ผนังหล่อสำเร็จรูป หรือผนังก่ออิฐรับน้ำหนัก ก็ไม่ควรเจาะผนังด้วยตัวเอง เพราะจะทำให้โครงสร้างบ้านสึกหรอและอาจพังได้ แนะนำ ว่าควรให้วิศวกรมาตรวจสอบและให้คำปรึกษาก่อน
- หากผนังเป็นแบบที่ไม่รับน้ำหนัก เช่น ผนังก่ออิฐ หรือผนังโครงคร่าว จะสามารถเจาะได้โดยไม่มีปัญหา คุณสามารถสังเกตว่าเป็นผนังรับน้ำหนักได้จากโครงสร้างเสาและคานรับน้ำหนักโดยรอบผนัง
- เมื่อเจาะผนัง ควรระมัดระวังไม่ให้ไปทำลายระบบไฟฟ้า หรือระบบประปาที่ฝังอยู่ในผนัง ถ้ามีแบบก่อสร้างบ้าน ก็ควรจะดูและติดตามการเดินไฟฟ้ากับประปาให้ชัดเจน เพื่อป้องกันความเสียหายลุกลาม
- เมื่อเจาะผนังถึงพื้นหรือฝ้าเพดาน ควรจะเก็บงานพื้นและฝ้าเพดานส่วนที่เคยเป็นผนังให้เรียบร้อยเพื่อความสวยงาม
- หากเจาะผนังที่เป็นวัสดุก่ออิฐ จะต้องทำเสาเอ็นกับคานเอ็นโดยรอบ เพื่อป้องกันผนังแตกร้าวออกจากกัน ถ้าหากเป็นผนังโครงคร่าว ก็จะต้องเสริมโครงคร่าวโดยรอบช่องเปิด
6. รีโนเวทบ้าน “การเพิ่มผนังใหม่”
- ถ้าต้องการเพิ่มผนังก่ออิฐ จะต้องทำให้ตรงกับแนวคานพื้นเพื่อให้มีความแข็งแรง และไม่ทำให้โครงสร้างบ้านเสียหาย เพราะผนังก่ออิฐมีน้ำหนักมาก จึงต้องมีคานพื้นรองรับ
- ถ้าต้องการเพิ่มผนังในส่วนที่ไม่มีคานพื้น คุณควรเลือกใช้ผนังเบา เช่น ผนังโครงคร่าว ผนังกรุวัสดุแผ่น เพราะมีน้ำหนักเบา จึงไม่จำเป็นต้องมีคานพื้นรองรับน้ำหนัก
- เมื่อทำการเพิ่มผนังใหม่ คุณสามารถเสริมฉนวนในช่องว่างผนัง เพื่อป้องกันเสียงกับความร้อนจากภายนอกให้ดีมากยิ่งขึ้นได้
7. รีโนเวทบ้าน “การย้ายตำแหน่งปลั๊กและสวิตซ์ไฟ”
การย้ายตำแหน่งปลั๊กและสวิตซ์ไฟ เป็นการรีโนเวทบ้านเก่าเพื่อปรับปรุงประโยชน์ใช้สอยให้มีความสะดวกมากขึ้น โดยจะมีวิธีการเดินสายไฟ 2 แบบคือ
- การเดินสายลอย โดยใช้ท่อหรือกิ๊บร้อยสายไฟ แล้วจัดสายไฟให้เป็นระเบียบ เหมาะสำหรับคนที่ไม่ต้องการให้ผนังเดิมเกิดความเสียหาย และมีค่าใช้จ่ายถูก
- การเดินสายฝังผนัง เป็นการเดินสายไฟโดยร้อยท่อไฟฝังในผนัง เหมาะสำหรับคนที่ต้องการความเรียบร้อยสวยงาม แต่จะมีค่าใช้จ่ายสูงกว่า และขึ้นอยู่กับประเภทของผนังด้วย เช่น
- ถ้าเป็นผนังปูนจะต้องสกัดผนังเป็นแนว เดินท่อไฟ แล้วฉาบปิดผนังให้เหมือนเดิม
- ถ้าเป็นผนังโครงคร่าว จะต้องเปิดผนังออกแล้วเดินท่อไฟ จากนั้นปิดผนังและโป๊ยาแนว
สำหรับการเดินสายฝังหนัง หลังจากเดินสายเสร็จสิ้นและปิดผนังเรียบร้อย จะต้องทาสีใหม่ทั้งผนังเพื่อความเรียบร้อยไม่มีตำหนิ แต่ถ้าไม่อยากยุ่งกับผนังเดิม คุณก็สามารถใช้วิธีเดินสายลอยเพื่อลดค่าใช้จ่ายได้ด้วยเช่นกัน
8. รีโนเวทบ้าน “การเปลี่ยน-รื้อประตูหน้าต่าง”
ก่อนที่จะเปลี่ยนประตูหรือหน้าต่างใหม่ คุณต้องตรวจสอบว่าประตูหรือหน้าต่างเดิมถูกติดตั้งอย่างไร ซึ่งการติดตั้งมี 2 ระบบที่นิยมคือ ระบบเปียก กับระบบแห้ง
- ระบบเปียก เป็นการติดตั้งโดยใช้วัสดุเชื่อมแน่น เช่น ตะปู สกรู หรือปูน เพื่อยึดวงกบประตูหรือหน้าต่างกับผนัง เหมาะสำหรับวัสดุไม้จริงที่มีน้ำหนักมาก
- ระบบแห้ง เป็นการติดตั้งโดยใช้วัสดุแบบเสียบ เช่น คลิป แผ่นยาง หรือซิลิโคน เพื่อยึดวงกบ ประตู หน้าต่าง กับช่องเปิด เหมาะสำหรับวัสดุอลูมิเนียม ไวนิล และไม้เทียมที่มีน้ำหนักเบา ทำให้การเปลี่ยนใหม่จะทำได้ง่าย เพียงถอดวงกบเดิมออกแล้วเสียบวงกบใหม่ได้ทันที
ในกรณี ที่คุณใช้การติดตั้งระบบเปียก การเปลี่ยนใหม่จึงมีความยุ่งยาก เพราะคุณจำเป็นต้องสกัดผนังออก เพื่อถอดวงกบไม้ออกจากผนังแล้วทำการซ่อมผนังและสร้างช่องเปิดใหม่ การใช้วิธีนี้อาจทำให้ผนังเสียหาย และเกิดตำหนิไม่สวยงาม แต่ … คุณสามารถแก้ใขด้วยการใช้ประตูหรือหน้าต่างแบบใหม่ ที่ติดตั้งทับวงกบไม้อันเดิมได้ ซึ่งคุณสามารถเลือกใช้ให้เหมาะสมกับการใช้งานและการตกแต่งบ้านได้
9. รีโนเวทบ้าน “การปรับปรุงห้องน้ำ”
ห้องน้ำเป็นส่วนที่ต้องใช้ความระมัดระวังในการรีโนเวทบ้านมากที่สุด เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดจากการรั่วซึม หรือการเสียหายของอุปกรณ์ การปรับปรุงห้องน้ำมีหลายกรณีและมีข้อควรระวัง ดังนี้
- หากต้องการย้ายตำแหน่ง หรือเปลี่ยนอุปกรณ์ในห้องน้ำ เช่น ก๊อกน้ำ ฝักบัว ชักโครก เป็นต้น จะต้องคำนึงเรื่องแนวท่อน้ำที่จุดจ่ายน้ำดีและระบายน้ำเสียให้เหมาะสม หากไม่ต้องการรื้อผนังเปลี่ยนใหม่ทั้งผืน คุณอาจก่อผนังด้านล่างอีกชั้นให้เป็นแท่นวางของ แล้วเดินแนวท่อใหม่ในผนังนี้ ช่วยเพิ่มพื้นที่ใช้สอย และในอนาคตหากมีการซ่อมแซม ก็จะสกัดเฉพาะผนังส่วนนี้เท่านั้น
- หากต้องการย้ายตำแหน่งสุขภัณฑ์ เช่น อ่างล้างหน้า โถส้วม เป็นต้น คุณจะต้องอุดรูที่เดิมและเจาะรูใหม่ให้ตรง โดยใช้ซีเมนต์ซ่อมแซมโครงสร้าง หรือปูนเกร้าท์ (Cement Grout) ซึ่งจะไหลไปอุดโพรงได้ดี ไม่หดตัว และเมื่ออุดรูแล้วจะต้องทายากันซึมบริเวณพื้นกับผนังให้ครบถ้วน
- หากต้องการทำห้องน้ำบนพื้นคอนกรีตสำเร็จรูป จะต้องขอคำแนะนำจากวิศวกรโครงสร้าง เนื่องจากไม่ควรเจาะรูที่พื้นคอนกรีตสำเร็จรูป เพราะจะทำให้เหล็กเส้นภายในแผ่นขาดซึ่งเป็นอันตรายมาก
- หากต้องการทำห้องน้ำบนโครงสร้างเหล็ก จะต้องให้ความสำคัญกับระบบกันซึม เพื่อป้องกันน้ำซึมตามขอบมุม ส่งผลให้เกิดสนิมและความเสียหายต่อโครงสร้างเหล็ก
10. รีโนเวทบ้าน “การปรับปรุงหลังคา”
การรีโนเวทหลังคาบ้าน เป็นส่วนที่ต้องดูแลรักษาเพื่อความสวยงาม และเพื่อป้องกันการรั่วซึม ผมขอยกตัวอย่างเป็นกรณี ดังนี้
- เปลี่ยนวัสดุมุงหลังคาใหม่ วัสดุมุงหลังคาใหม่ควรมีน้ำหนักน้อยกว่าหรือเท่ากับวัสดุเดิม สามารถมุงแนวลาดชันได้ และมีระยะแปสำหรับติดตั้งกระเบื้องมุงหลังคาเท่าเดิม
- ทาสีหลังคาใหม่ เป็นการรีโนเวทหลังคาบ้านให้ดูสดใหม่ และทาสารเคลือบป้องกันการกรัดกร่อน ก่อนที่จะทาสี ให้คุณซ่อมแซมและทำความสะอาดหลังคาให้ไม่มีฝุ่น ตะไคร่ และสิ่งสกปรก เพื่อให้สีติดทนนาน
- ปูวัสดุหลังคาใหม่ทับหลังคาเดิม เป็นวิธีที่ไม่ต้องรื้อวัสดุเดิมออก เช่น ทาวน์เฮ้าส์ที่ทำหลังคายาวต่อเนื่อง ในการเปลี่ยนวัสดุมุงหลังคาใหม่อาจทำให้เกิดความเสี่ยงที่จะเสียหายลุกลาม จึงมีวัสดุมุงหลังคาแบบปูทับได้เลยเพื่อแก้ใขปัญหาดังกล่าว
สรุป
สรุปแล้ว หากจะ รีโนเวทบ้าน คุณควรตรวจสอบโครงสร้างในพื้นที่นั้นเป็นสำคัญ รวมถึงความเข้าใจในการเลือกใช้วัสดุให้เหมาะสมกับพื้นที่ เพื่อเลี่ยงปัญหาลุกลามบานปลายที่อาจเกิดขึ้นจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เมื่อทราบดังนี้แล้ว หากคุณไม่มั่นใจที่จะปรับปรุงบ้านด้วยตัวเอง
เราแนะนำ ให้คุณจ้างมืออาชีพมาช่วยวางแผน ว่าจุดที่คุณต้องการรีโนเวทสามารถทำได้หรือไม่ เพื่อความปลอดภัยระยะยาว หรือคุณอาจจ้างบริษัทรับรีโนเวทบ้าน เพื่อให้มืออาชีพเข้ามาดูแลตั้งแต่วางแผนจนงานรีโนเวทบ้านเสร็จสิ้น ก็ทำได้เช่นกันครับ